รายงาน FBR : การข่มขืน, ยาเสพติด, และการกดขี่ข่มเหงในรัฐฉาน ประเทศพม่า
รัฐฉาน ประเทศพม่า
วันที่ 20 กันยายน 2007
รายงานประกอบไปด้วย
  • การทำร้ายของกองทหารพม่า รายงานโดยทีม FBR จากตอนใต้ของรัฐฉาน
  • รายงานเกี่ยวกับสิทธิมนุษยชนในพื้นที่ โฮ มอง ทางตะวันออกเฉียงใต้ของรัฐฉาน
  • รายงานจาก Partners Relief & Development – บทสัมภาษณ์, บทสรุป และข้อเสนอแนะ
แผนที่ของรัฐฉานตอนใต้

รายงานฉบับนี้ถูกส่งตรงมาจากหน่วยบรรเทาทุกข์ FBR ในรัฐฉาน และจบรายงานด้วยคำพยาน และบทสัมภาษณ์ที่จัดทำโดย Partners Relief & Development (PRAD) ผู้ซึ่งทำงานเคียงบ่าเคียงไหล่กับทีม FBR พวกเราอยู่ที่นี่เพื่อที่จะให้การฝึกอบรมทีมบรรเทาทุกข์ชาวฉานทีมใหม่จำนวน 5 ทีม เพื่อที่พวกเขาจะเข้าไปให้ความช่วยเหลือ ความหวัง และความรัก แก่ผู้ที่ต้องการในรัฐฉาน พวกเราประทับใจในองค์กร และความมีน้ำใจของฝ่ายต่อต้านชาวฉานและชาวบ้าน ใบหน้าอันมีรอยยิ้มที่จริงใจ และความเชื่อว่าทุกอย่างนั้นเป็นไปได้ สิ่งเหล่านี้ได้สร้างแรงบันดาลใจให้กับพวกเรา เราซาบซึ้งสำหรับความช่วยเหลือของพวกเขา

ภูมิหลังและเรื่องราวด้านล่างนี้ได้เป็นพยานถึงความโหดร้ายของรัฐบาลเผด็จการทหารพม่าที่สร้างความเจ็บปวดให้กับประชาชนอย่างไร ในขณะเดียวกัน เราอยากให้ท่านทราบเช่นกันว่า ที่นั่นยังมีความหวัง เราเห็นความหวังในการทำงานของหน่วยบรรเทาทุกข์ ความแน่วแน่ของฝ่ายต่อต้าน และศักดิ์ศรี และ ความใจดีของชาวบ้าน

ขอบคุณท่านที่เป็นส่วนหนึ่งของความหวังเช่นกัน

ขอพระเจ้าทรงอวยพรท่าน

The Free Burma Rangers

รายงาน FBR : การข่มขืน, ยาเสพติด, และการกดขี่ข่มเหงในรัฐฉาน ประเทศพม่า

บทนำ
รัฐฉานเป็นรัฐที่ใหญ่ที่สุดและมีประชากรที่เป็นชนเผ่ามากที่สุดในประเทศพม่า ชาวฉานเป็นกลุ่มชนที่ใหญ่ที่สุด (8- 10ล้านคน) จากชนเผ่าทั้งหมดในรัฐฉาน ประชาชนของประเทศพม่ามีชีวิตอยู่ภายใต้การกดขี่ และเช่นเดียวกันกับชนกลุ่มน้อยอื่นๆ ชาวฉานถูกพุ่งเป้าในการโจมตีเป็นพิเศษ ที่นั่น ครั้งหนึ่งเคยเป็นรัฐที่มีความมั่งคั่งที่สุดในพม่า ตอนนี้ที่นั่นเต็มไปด้วยความยากจนแร้นแค้น และเป็นพื้นที่ๆ ถูกข่มเหง เป็นที่ๆ กองทหารพม่าพยายามที่จะเข้าไปควบคุมอย่างเบ็ดเสร็จ

ชาวฉานมากกว่าหนึ่งล้านคนได้กลายเป็นผู้พลัดถิ่น และประชาชนนับพันถูกสังหาร

เผด็จการทหารแสวงหาผลประโยชน์จากป่าไม้และทรัพยากรแร่ในรัฐฉาน โดยให้ผลตอบแทนอันน้อยนิดกับประชาชนที่นั่น และทิ้งความเสียหายทางสิ่งแวดล้อมเอาไว้ เนื่องจากการโจมตีของรัฐบาล การกดขี่ข่มเหง และการขาดการดูแล ไม่มีการให้การศึกษาในหลายๆ พื้นที่ๆ นั่น และในขณะที่งานสาธารณสุขก็เสื่อมถอยลง อัตราการติดเชื้อ HIV ก็สูงขึ้นเรื่อยๆ ที่นี่ กองทหารพม่า และกองกำลังของพวกเขา ผลิตฝิ่นจำนวนมากที่สุดเป็นอันดับสองของโลก และผลิตยาบ้ามากที่สุดในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้

แม้ว่าจะมีปัญหาต่างๆ มากมายเช่นนี้ ชาวฉานยังไม่ยอมแพ้ และพวกเขาหลายคนได้ทำงานร่วมกันเพื่อที่จะตอบสนองความต้องการทางด้านวัตถุ การแพทย์ การศึกษา และการเพิ่มศักยภาพในด้านต่างๆ

หุบเขาโฮ มอง พฤศจิกายน 06
หุบเขาโฮ มอง พฤศจิกายน 06
ชาวบ้านกำลังปลูกดอกป๊อบปี้เพื่อการผลิตฝิ่นในพื้นที่ใกล้ๆ โฮมอง พฤศจิกายน 06

การทำร้ายต่างๆ ของกองทหารพม่า รายงานโดยทีม FBR ในทางใต้ของรัฐฉาน

การข่มขืน และการสังหาร
กองทหารพม่าข่มขืนหญิงชาวฉานสามคนเป็นเวลาสามวันติดต่อกัน
ในวันที่ 9 ตุลาคม 2006 ทหารพม่าหกนายจากกองทหารพม่า IB 9 และ LIB 2 ได้ข่มขืนหญิงชาวฉานสามคน จากหมู่บ้านแห่งหนึ่งในเมืองโฮ โพง เขตเจ ฉี พวกเธอมีอายุ 50 ปี , 40 ปี และ 12 ขวบ พวกเธอกำลังเดินอยู่นอกหมู่บ้านในขณะที่เผชิญหน้ากับกองทหารพม่า พวกเธอถูกจับกุม จากนั้น ถูกเฆี่ยนตี ถูกเฉือนด้วยมีด และถูกข่มขืนซ้ำแล้วซ้ำเล่าเป็นเวลาสามวันติดต่อกัน พวกเธอยังถูกบังคับให้ร่วมเพศทางปากอีกด้วย หลังจากสามวัน พวกเธอถูกปล่อยตัวออกมา และถูกสั่งห้ามไม่ให้บอกเรื่องที่เกิดขึ้นให้ใครฟัง
หญิงทั้งสามคนได้รับบาดเจ็บสาหัส หญิงคนหนึ่งมีบาดแผลสาหัสที่ศีรษะ อีกคนหนึ่งถูกมีดเฉือนหลายแห่ง และบาดเจ็บสาหัสที่หว่างขา แพทย์ท้องถิ่นคนหนึ่งได้ให้การรักษาเบื้องต้นแก่พวกเธอ แต่เมื่อกองทหารพม่ารู้ว่าเขาได้ช่วยเหลือพวกเธอ พวกทหารพม่าตามหาแพทย์ดังกล่าวและทุบตีเขา เนื่องจากหญิงทั้งสามได้รับบาดเจ็บสาหัส น้องสาวของหญิงคนหนึ่งได้พาหญิงทั้งสามไปยังเมืองๆ หนึ่ง ซึ่งเป็นที่ตั้งของค่ายทหารพม่าทั้งหกคนนั้น เพื่อรับการรักษาขั้นต่อไป

ขณะนี้ ยังไม่ทราบข้อเพิ่มเติมเกี่ยวกับความเป็นไปของทั้งสาม แต่เชื่อว่าพวกเธอยังคงมีชีวิตอยู่

ในวันที่ 12 ตุลาคม ทหารจากหน่วยทหารเดียวกันได้เข้าไปในหมู่บ้านแห่งหนึ่ง และทำการลวนลาม ทำร้ายร่างกายชาวบ้านเกือบทุกคน และได้ขโมยเหรียญอังกฤษโบราณไปสองถุงใหญ่ ซึ่งชาวบ้านใช้เหรียญเหล่านี้เพื่อการประดับตกแต่งเครื่องแต่งกาย และได้ขโมย วัว ม้า และควายไปอีกอย่างละตัว

กองทหารพม่าสังหารชาวบ้าน
ในวันที่ 1 มกราคม 2007 ทหารจาก LIB 505 ได้จับนาย ลุง เคิน อายุ 50 ปี จากหมู่บ้านวาน นา นัว ในเมืองซี พอ พวกเขาขังนายลุง เคินไว้หนึ่งสัปดาห์ จากนั้นจึงสังหารเขาในวันที่ 8 ทหารพม่าได้ขโมยสัตว์ทุกตัว ทอง และทรัพย์สินที่มีค่าของเขาไปจนหมด

ขโมยและการข่มขู่
ในวันที่ 5 พฤศจิกายน 2006 กองทหารพม่าได้เข้าไปยังหมู่บ้าน ก ในพื้นที่เมืองนอง ในเขตเมืองยาย และได้เข้าปล้นสะดมหมู่บ้านดังกล่าว ในขณะที่พวกเขาทำการปล้นสะดม พวกเขาก็ยังได้ยิงชาวบ้านคนหนึ่ง จากนั้นก็ตัดศีรษะของเธอออกมา พวกเขาได้ขู่พวกเขาว่า ถ้าชาวบ้านไปขอความช่วยเหลือจากกองกำลังรัฐฉาน Shan State Army(SSA) พวกเขาจะกลับมาที่หมู่บ้านแห่งนี้อีกและจะฆ่าชาวบ้านทุกๆ คน กองทหารนี้ ได้ขโมยควายไป 9 ตัว ไก่ 33 ตัว สิ่งของภายในบ้าน เสื้อผ้าที่มีราคา และของอื่นๆ อีก มากกว่า 60,000 จั๊ด

ในวันที่ 27 พฤศจิกายน IB517 ได้เข้ามายังหมู่บ้าน ข ในเมืองเมืองเคิน และได้เรียกร้องให้ชาวบ้านจ่ายภาษี ทุกครัวเรือนถูกบังคับให้ส่งหมูหนึ่งตัว วัวหนึ่งตัว และควายหนึ่งตัว และเงินอีกจำนวน 20,000 จั๊ด ชาวบ้านได้รับการขู่เช่นกันว่า ถ้าพวกเขาไปขอความช่วยเหลือจาก SSA หรือส่งข่าวสถานการณ์นี้ออกไป พวกเขาจะถูกสังหารทั้งหมู่บ้าน

ในวันที่ 3 กุมภาพันธ์ มีทหารจำนวน 40 นาย จาก IB525 ภายใต้นายออง พน พวกเขาได้ขโมยสิ่งของจากหมู่บ้าน ค ในเมืองมาน เคิง พวกเขาขโมยไก่ไป 14 ตัว หมู 7 ตัว ควาย 1 ตัว และสิ่งของมีค่าไปมากกว่า 2 ล้านจั๊ด

ในวันที่ 24 เมษายน ทหารจาก IB 246 และ 524 ซึ่งมีฐานอยู่ที่คุณ ฮิง ได้เดินทางลงมายังหมู่บ้าน ง และเรียกร้องเอาเบียร์ เหล้า ปลา และข้าวจากชาวบ้านเป็นเงินจำนวนมากกว่า 250,000 จั๊ด จากนั้น พวกเขาก็ถามผู้ใหญ่บ้านเกี่ยวกับงานของ SSA หลังจากที่ผู้ใหญ่บ้านบอกว่าเขาไม่ทราบอะไรเลย เขาถูกทุบตี

ในวันที่ 28 เมษายน IB 248 ได้เข้ามายังหมู่บ้านและสั่งเอาไก่ 15 ตัว วัว 3 ตัว และเงินอีกมากกว่า 550,000 จั๊ด จากชาวบ้าน นอกจากนั้น พวกเขายังทุบตีลูกชายคนเล็กของผู้ใหญ่บ้าน และผู้ใหญ่อีกสองคน จากนั้น พวกเขามัดผู้ใหญ่บ้านและดึงเขาขึ้นไปแขวนไว้ พวกเขาสั่งไม่ให้ผู้ใหญ่บ้านบอกข้อมูลใดๆ มิฉะนั้น พวกเขาจะสังหารทั้งหมู่บ้านเช่นเดียวกับในปี 1996

ในวันที่ 27 เมษายน IB 248 ได้เข้ามายึดเอาที่ดินของชาวบ้านจากหมู่บ้านแห่งหนึ่งในเขตนาม ชาง พวกเขาก่อไฟขึ้นมา แล้วก็โยนสิ่งของทุกอย่างลงไปในไฟ จากนั้น พวกเขาบังคับเอาไก่ 12 ตัว วัว 2 ตัว ควาย 1 ตัว น้ำมัน ข้าว และเงินอีกมากกว่า 3ล้านจั๊ด จากนั้น พวกเขาก็ทุบตีลูกชายของผู้ใหญ่บ้าน หักขาและแขนของเขา พวกเขาบอกกับชาวบ้านว่า ทุกครั้งที่พวกเขาเข้ามาในหมู่บ้าน ชาวบ้านต้องพร้อมที่จะทำตามคำสั่งทุกอย่างที่พวกเขาต้องการ พวกทหารบอกชาวบ้านว่า ที่นี่ไม่ใช่แผ่นดินของพวกเขา พวกเขาไม่ได้เป็นประชาชนที่นั่น และพวกเขาจะไม่มีวันเห็นประชาธิปไตย พวกทหารบอกว่าพวกเขาจะทำอย่างไรกับชาวบ้านก็ได้ และจะไม่มีใครรู้เห็น

ในวันที่ 6 กรกฎาคม นายทหารติดอาวุธสองนายจากกองทหารพม่าได้ขโมยทรัพย์สินจากพื้นที่โฮ มอง ในทางใต้ของรัฐฉาน ทหารสองนายนี้เจอพ่อค้า ก ที่เข้ามาซื้อของในโฮมองและนำไปขายตามหมู่บ้านเล็กๆ เมื่อพ่อค้าอยู่ที่โฮ มองใกล้กับเจดีย์หลัก นายทหารสองคนเจอเขาเข้า และเล็งปืนไปยังพ่อค้า และบังคับให้เขาให้ปลากระป๋อง และนม จากนั้น ทหารบอกพ่อค้าว่า เขาไม่ได้รับอนุญาตให้ขายของอีกต่อไปแล้ว ซึ่งพ่อค้ากำลังจะเดินทางกลับบ้านอยู่แล้ว ตามคำบอกของแหล่งข้อมูล เหตุการณ์เช่นนี้ เกิดขึ้นอย่างน้อยสามครั้งต่อสัปดาห์ในพื้นที่โฮมอง

ในวันที่ 3 กันยายน 2007 นายทหารพม่า กอง แซง เคียง ได้ลงมายังบ่อน้ำที่ตั้งอยู่ที่โฮ มอง และพยายามที่จะยิงปลาในบ่อ หลังจากที่ยิงไม่สำเร็จ เขาเดินไปยังบ้านหลังหนึ่ง และขโมยผักจากสวนผัก หลังจากที่เอาแตง และผักอื่นๆ ไปจนเต็มกระเป๋าแล้ว นาย กอง แซง เคียงได้ทำลายสวนผักสวนหลัก

การผลิตสารเสพติด และการกดขี่ข่มเหง: โฮมอง ตะวันออกเฉียงใต้ของรัฐฉาน ประเทศพม่า
ภูมิหลัง
พื้นที่โฮมองนี้ อยู่ทางตะวันตกของชายแดนไทย จังหวัดแม่ฮ่องสอนนี้เอง มันอยู่ในหุบเขาภายในรัฐฉาน ประเทศพม่า ทางเหนือของเมืองแม่ฮ่องสอน ประเทศไทย (โฮมอง : Lat/Long: N 19 45 30 E 097 59 00.)

ประชาชนที่อยู่ในโฮ มองมีชีวิตอยู่ในระบบศักดินาภายใต้การกดขี่ของทั้งกองทหารพม่า และกองกำลังรัฐฉานตอนใต้ Southern Shan State Army (SSS) SSS นี้ นำโดย มาฮา จา ผู้นำทหารชาวว้า ซึ่งเป็นผู้บังคับบัญชาทหารที่มีกำลัง 300-500 กอง และเขาได้รับอำนาจบางส่วนจากกองทหารพม่าให้ควบคุมพื้นแห่งนี้ SSS ยังได้มีส่วนร่วมกับกองทหารพม่าในเรื่องการขนย้ายสารเสพติดในพื้นที่โฮ มอง อีกด้วย

สถานการณ์ความเป็นอยู่ของประชาชนนั้น ก็เพียงมีกินแค่วันต่อวัน ชีวิตภายใต้การควบคุมของกองทหารพม่า และ SSS นั้น พวกเขาไม่สามารถควบคุมสิ่งต่างๆ ในชีวิตของเขาได้ กรุณาอ่านบทความของการทำร้ายร่างกาย ข่มขืน และสังหาร สองกรณีที่อยู่ด้านล่างของรายงานฉบับนี้ ซึ่งเป็นส่วนหนึ่งจากรายงานสองฉบับที่เราได้ส่งออกมาก่อนหน้านี้ (หมายเหตุ – Southern Shan State Army (SSS) เป็นกองกำลังที่ทำงานให้กับกองทหารพม่า ขณะที่ Shan Shan State Army (SSA) นั้นเป็นองค์การที่เป็นฝ่ายต่อต้านเพื่อประชาธิปไตย

ประชาชนที่อยู่ในโฮ มอง ดูเหมือนว่าจะยอมรับระบบศักดินาอันนี้ พวกเขาไม่ชอบมัน แต่พวกเขาสามารถเอาตัวรอดได้ และมันก็เป็นการอันตรายมากเกินไปที่จะเปลี่ยนแปลงสิ่งนี้เองโดยปราศจากความช่วยเหลือจากภายนอก

หุบเขาแห่งนี้มีความอุดมสมบูรณ์ และมีอาหารอย่างเพียงพอ กองทหารพม่าควบคุมการค้าทั้งหมด และบังคับประชาชนให้ปลูกต้นละหุ่งเพื่อทำน้ำมัน (ซึ่งเป็นโปรแกรมที่ใช้บังคับประชาชนโดยทำเป็นวงกว้าง) กองทหารพม่า และ SSS เก็บภาษีจากสินค้าทุกประเภท ตัวอย่างเช่น รถกะบะทุกคนต้องเสียภาษีเป็นจำนวนเงิน 1,000 บาท ต่อปี วัว 1,200 บาท กองทหารพม่า และ SSS เป็นผู้ควบคุมถนนสายต่างๆ ถนนสายหลักจากโฮ มองไปยังชายแดนไทยที่ นา มอง ลอง นั้น ใช้ได้ตลอดทั้งปี ที่นั่นมีค่ายทหารพม่าค่ายหลัก 5 ค่าย และค่ายทหารของ SSS 3 ค่าย ในพื้นที่ระแวกนั้น ระบบการศึกษาเป็นสิ่งแย่มาก ครูได้คิดเงินกับนักเรียนเพิ่มมากขึ้น แต่ครูก็ไม่ได้ไปสอนเป็นประจำ ด้วยเหตุดังกล่าว เด็กที่อยู่ใกล้กับชายแดน จึงเดินข้ามชายแดนเพื่อไปโรงเรียน

วัยรุ่น และเด็กหญิงอยู่ในความเสี่ยง
ความหายนะจากยาเสพติดนั้น ไม่ใช่แค่จากการส่งออกจากพื้นที่แห่งนี้เท่านั้น แต่มันส่งผลร้ายกับประชาชนที่นั่นด้วยเช่นกัน วัยรุ่นมากมายใช้ยาบ้า เนื่องจากมันเป็นสิ่งที่หาได้ทั่วไป และที่นั่น มันไม่มีความหวังจริงๆ ให้กับพวกเขา
หญิงสาว และเด็กสาวนั้นอยู่ในความเสี่ยงเป็นพิเศษ และพวกเขาหลายคนถูกส่งไปขายที่ประเทศไทย เพื่อไปทำงานในอุตสาหกรรมค้ากาม

ประวัติศาสตร์
พื้นที่ของโฮ มอง นั้น มีเจ้านายอยู่หลายคน ในประวัติที่ผ่านมาไม่นานนี้ เจ้านายส่วนใหญ่มีชื่อเสียงในทางที่ไม่ดี ในยุค 80 ขุนส่า เจ้าพ่อค้ายาเสพติดของ กองกำลังม้ง ไท (Mong Tai Army (MTA) เป็นผู้ควบคุมกองกำลังยาเสพติดที่ใหญ่ที่สุดในโลก แม้ว่ากองทหารนี้จะได้เงินสนับสนุนจากยาเสพติด แต่ขุนส่าเองก็ชอบการสนับสนุนของชาวบ้าน เนื่องจาก ขุนส่าถูกมองว่าเป็นฝ่ายตรงข้ามที่มีประสิทธิภาพมากที่สุดของกองทหารพม่าในรัฐฉาน ประชาชนมากมายผู้ซึ่งอาศัยอยู่ในรัฐฉานอยู่ในขณะนี้ เป็นผู้ที่หนีจากกองทหารพม่ามาจากที่อื่นๆ ในรัฐฉาน และย้ายมาอยู่ที่นี่ภายใต้การคุ้มครองของ MTA ในปี 1996 ขุนส่ายอมรับการนิรโทษกรรมจากเผด็จการทหารพม่า และย้ายไปอยู่ที่ย่างกุ้ง MTA จึงล้มลง แต่ทหารที่ยังคงต้องการต่อสู้เพื่ออิสรภาพได้ปฏิรูปเป็น Shan United Revolutionary Army (SURA) ซึ่งต่อมาได้เปลี่ยนเป็น Shan State Army (SSA) ภายใต้พันเอก ยัด ซึ

SSA อยู่ภายใต้องค์การทางการเมืองของ Restoration Council of the Shan State (RCSS) และต่อสู้เพื่อเสรีภาพ การกู้อธิปไตย และการปลดปล่อยรัฐฉาน SSA ได้จัดตั้งการประกาศการรณรงค์ต่อต้านการผลิตสารเสพติด การค้ายา และการเสพยาในรัฐฉาน

การค้ามนุษย์
พื้นที่โฮ มอง ถูกใช้เป็นทำเลหลักของการค้ามนุษย์ เพื่อที่จะส่งคนออกข้ามชายแดนไทย – พม่า ตามข้อมูลของ SSA มีคนที่ถูกส่งไปขายข้ามชายแดนใกล้ๆ โฮ มองทุกเดือนๆ ละประมาณ 100 คน มีคน 25 คน ที่อยู่ในพื้นที่ โฮ มอง ซึ่งทำการค้ามนุษย์ข้ามชายแดนนี้ หนึ่งในนั้นคือ นาง คำ อิง เธอนำคนลงมาจากลาเซียว จากนั้น ก็ขายพวกเขาให้กับคู่ค้าชาวไทย เป็นจำนวนเงิน 2,000 บาทต่อคน คนที่ถูกนำมาขายนี้ ได้จ่ายเงินให้กับเธอไปแล้วคนละ 240,000 จั๊ด เพื่อที่เธอจะช่วยพวกเขาข้ามชายแดนมายังฝั่งไทย ที่ๆ พวกเขาหวังว่าจะได้พบกับชีวิตใหม่ แต่พวกเขาก็พบว่า พวกเขาถูกนำมาขายให้กับพ่อค้าอีกต่อหนึ่ง นางคำ อิง ได้นำคนมาขายมาแล้วมากกว่า 60 คน ผู้ค้ามนุษย์เหล่านี้จ่ายเงินให้กับกองทหารพม่าเป็นจำนวนเงิน 100 บาทต่อคน และอีก 50 บาทให้กับตำรวจของ SPDC และอีก 250 ให้กับ SSS เพื่อเป็นการแลกเปลี่ยนที่พวกเขาจะอนุญาตให้พวกเขาค้ามนุษย์ต่อไปได้

การสัมภาษณ์ของ Partners Relief & Development (PRAD) Interviews ข้อสรุป และข้อแนะนำ
PRAD ได้สัมภาษณ์ผู้พลัดถิ่นหลายต่อหลายคนระหว่างการเดินทางครั้งนี้ ข้อความต่อไปนี้คือบทสรุปของเรื่องราวของพวกเขา ชื่อของพวกเขา และชื่อของหมู่บ้านนั้นต้องขอยกเว้นไว้ในรายงานฉบับนี้ เพื่อความปลอดภัยของพวกเขา

บทสัมภาษณ์ที่ 1 : นางสาว ก อายุ 17 ปี จากหมู่บ้าน ก ในเมืองเวียง เล คา

ในปี 2000 กองกำลังของ SPDC ได้เข้ามาที่หมู่บ้าน ก ชาวบ้านส่วนใหญ่นั้นหนีไปได้ และซ่อนตัวอยู่ในป่าก่อนที่พวกทหารจะเข้ามาทำการยึดหมู่บ้าน ครอบครัวของเธอนั้น ไม่สามารถที่จะหนีได้ทันเวลา พวกทหารบังคับให้พ่อของเธอขนของให้พวกเขา และกักตัวเขาเอาไว้เป็นทาส และเฆี่ยนตีเขา ครั้งหนึ่ง พวกเขาบังคับนาย ก ให้เข้าไปในป่า เพื่อไปหาชาวบ้านและนำพวกเขากลับมาที่หมู่บ้าน เมื่อเขากลับมาคนเดียว เขาถูกเฆี่ยนตีอย่างรุนแรง นางสาว ก และแม่ของเธออยู่ในห้อง ขณะที่สิ่งนี้กำลังเกิดขึ้น ทหาร SPDC จากบ้านของพวกเขาไป และทิ้งให้พ่อของเธอเลือดออกจนเสียชีวิต

หลังจากที่พ่อของเธอเสียชีวิต นางสาว ก และแม่ของเธอถูกบังคับให้ย้ายไปในที่ๆ จัดไว้เพื่อย้ายถิ่นฐานในห้วย ก SPDC บอกพวกเขา และคนอื่นให้อาศัยอยู่ที่นั้น ถ้าพวกเขาเดินทางกลับไปยังหมู่บ้าน SPDC จะยิงพวกเขาทิ้ง หลายต่อหลายคนเสียชีวิตเนื่องจากความเจ็บป่วยและอาหารที่ไม่เพียงพอ แม่ของนางสาว ก แอบไปที่ฟาร์มของพวกเขาหลายต่อหลายครั้ง เพื่อที่จะไปเอาอาหารและชาที่พวกเขาปลูกเอาไว้ และวันหนึ่งเธอก็ไปที่ฟาร์ม และไม่เคยได้กลับมาอีกเลย นางสาว ก ได้ข่าวว่าพวก SPDC ได้จับแม่ของเธอไว้ (เธอร้องไห้ในตอนที่พูดถึงเรื่องนี้) และขณะนี้เธอก็อยู่ในความดูแลของป้าของเธอ

ป้าของนางสาว ก มีลูกสามคน และเธอก็แทบจะดูแลพวกเขาไม่ไหวอยู่แล้ว เมื่อเธอได้ยินว่ามีโรงเรียนและหอพักที่ไท เลิง เธอจึงส่งหลานสาวไปที่นั่น

นางสาว ก อยู่ที่ ลอย ไท เลิง เป็นเวลา 5 ปี และเธอเป็นนักเรียนที่ขยันเรียน เธอปรารถนาที่จะเรียนหนังสือ และเป็นหมอในอนาคต เพื่อที่เธอจะได้ช่วยเหลือคนของพวกเธอ

บทสัมภาษณ์ที่ 2 เด็กหญิง ข อายุ 14 ปี จากหมู่บ้าน ข ในเมือง โฮ มอง
เด็กหญิง ข ได้รับการดูแลจากคุณตาของเธอจนกระทั่งเธออายุสิบขวบ เธอได้รับการบอกเล่าว่า SPDC ได้ฆ่าพ่อแม่ของเธอ
ในปี 2003 พ่อค้ามาหาเธอ และบอกเธอว่า เธอมีพี่ชายอยู่ในประเทศไทย และอยากให้เธอไปอยู่กับเขา คุณตาของเธอจึงส่งเธอไปกับพ่อค้าคนนี้ไปยังหมู่บ้านแห่งหนึ่ง และขายเธอให้กับชาวนา โดยแลกกับข้าวหกกระสอบ เธอทำงานเยี่ยงทาส ภายใต้สภาพที่เลวร้าย วันหนึ่ง เธอไปที่วัดเพื่องานเฉลิมฉลอง ขากลับบ้านเธอเจอเข้ากับทหาร SPDC และเขาข่มขืนเธอ

ห้าวันต่อมา หน่วยบรรเทาทุกข์ FBR ได้มาที่หมู่บ้านของเธอ และทราบว่าอะไรเกิดขึ้นกับเธอ พวกเขาพาเธอไปกับเขา และให้เธออาศัยอยู่ที่บ้านของสมาชิกคนหนึ่งเป็นเวลาไม่กี่เดือน จากนั้น ก็พาเธอไปอยู่ที่หอพักหญิง จากที่ไม่เคยไปโรงเรียนเลย ตอนนี้ เธอเรียนอยู่ป. 2 เธอต้องการเป็นครูในอนาคต และช่วยเหลือคนของเธอ

บทสัมภาษณ์ที่ 3: นาย ค อายุ 18 จากหมู่บ้าน ค เมือง เคิง ลอม
ในปี 2000 ได้ไปทีฟาร์มของเขาพร้อมกับครอบครัว เพื่อไปเกี่ยวข้าวในนา ทหาร SPDC ได้เข้ามาที่นา และเอาพ่อและแม่ของเขาไป และทิ้งเขาและน้องชายเอาไว้ที่นั่นตามลำพัง พวกเขาไม่เคยได้พบ หรือได้ยินข่าวของพ่อแม่ของเขาอีกเลย

นาง ง และสามีของเธอ นำเด็กทั้งสองมาอยู่ด้วยเป็นเวลาสองปีก่อนที่จะส่งพวกเขาไปยังเคิงลอมเพื่อเรียนหนังสือที่โรงเรียนประจำที่นั่น นาย ค เป็นเด็กที่เรียนดีที่สุดในจำนวนพี่น้องทั้งห้าคนของเขา เขาถูกส่งไปกับทหารของ SSA เพื่อไปศึกษาต่อในปี 2003

นาย ค ต้องการที่จะเรียนให้จบ และเปิดโรงเรียนประจำเพื่อผู้พลัดถิ่น และเด็กที่ไม่ได้รับการเหลียวแล

บทสัมภาษณ์ที่ 4: นายเลิง พราน สมาชิกหน่วยบรรเทาทุกข์ FBR
นายเลิง พราน เคยเป็นทหารของ SSA ระหว่างภารกิจ และการลาดตะเวณ เขาได้ช่วยเหลือผู้คนมากมาย เขาเคยทำงานเป็นสมาชิกของหน่วยบรรเทาทุกข์ FBR และ Good Life club เป็นเวลาหนึ่งปี ในปี 2006 และในขณะนี้ เขาทำงานให้กับ RCSS โดยทำหน้าที่เป็นผู้สื่อข่าว ต่อไปนี้เป็นบทสัมภาษณ์ที่เขาได้บันทึกและได้รับจากยืนยันแล้ว

ปี 2002, ในเมืองโฮ มอง หมู่บ้าน ก กองทหารพม่า (LIB 132) ได้เข้าไปในบ้านหลังหนึ่ง และเจอนาง ก อายุ 50 ปี อยู่ตามลำพัง ทหารจ่อปีนไปที่เธอ และเข้าข่มขืนเธอ

ปี 2002, ในเมืองโฮ มอง หมู่บ้าน ข นาง ข ได้เข้าไปเก็บฟืน เธออายุ 30 ปี แต่งงาน และมีบุตรสองคน เธอพบเข้ากับกองทหารพม่าในป่า ทหารห้านายรุมข่มขืนเธอ เธอยังคงอาศัยอยู่ในเมืองโฮ มอง

ปี 2002 ทหารพม่าได้ข่มขืนผู้หญิงคนหนึ่ง และทำให้เธอตั้งครรภ์ หลังจากที่เด็กเกิดมาแล้ว ทหารนายนี้ยังคงเข้าไปในหมู่บ้านของเธอ และข่มขืนเธอเป็นประจำ เธอไม่สามารถทนต่อไปได้อีก เธอจึงหนีไป และทิ้งลูกเอาไว้ ขณะนี้ เด็กมีอายุห้าขวบ และได้รับการดูแลจากยายซึ่งอยู่ในเมืองโฮ มอง

สถานการณ์ด้านการช่วยเหลือด้านมนุษยชน
ผู้พลัดถิ่น เป็นกลุ่มคนที่อ่อนแอมากที่สุดในโลก ผู้พลัดถิ่นคือคนที่เผชิญการข่มเห่ง ถูกกดขี่ และไม่สามารถที่จะหนีออกนอกประเทศของพวกเขาได้

ผู้พลัดถิ่นได้รับความช่วยเหลือที่น้อยมาก พวกเขาไม่มีที่พักอาศัยที่เพียงพอ และล้มตายจากความเจ็บป่วยและความหิวโหยอย่างต่อเนื่อง นานาชาติไม่ได้เห็นถึงสถานะภาพของผู้พลัดถิ่น และได้ให้ความคุ้มกัน และความช่วยเหลืออันน้อยนิดแก่พวกเขา พวกเขาไม่ได้รับการคุ้มกันภายใต้กฎหมายผู้ลี้ภัยนานาชาติ ต่างกับเงินทุนช่วยเหลือของผู้ลี้ภัย ไม่มีเงินทุนใดๆ สำหรับผู้พลัดถิ่น

จากการซ่อนตัวในป่าของประเทศพม่า ผู้พลัดถิ่นเหล่านี้เผชิญกับความยากลำบากอย่างยิ่งยวดที่จะรักษาชีวิตเอาไว้ ความเจ็บป่วยนั้นอยู่ที่หนทุกแห่ง ขาดการศึกษา และอาหารนั้นแทบจะไม่มี

บทสรุป และข้อเสนอแนะโดย Partners
การยึดครองอันโหดร้ายในรัฐฉาน และ การโจมตีของทหารต่อชาวบ้านพลเรือนในรัฐฉานนั้น ส่งผลให้ประชาชนมากกว่าหนึ่งล้านคนต้องกลายเป็นผู้พลัดถิ่น การข่มขืน การทรมาณ การทำร้ายจนพิการ และการสังหารในรัฐฉานและพื้นที่อื่นๆ นั้นถูกทำอย่างเป็นระบบ และทำอย่างกว้างขวาง เช่นเดียวกับการบังคับใช้แรงงาน และการทำร้ายอื่นๆ ในรัฐมอญ การละเมิดสิทธิมนุษยชนนั้นเกิดขึ้นทุกหนทุกแห่งในประเทศพม่า และการกักขังออง ซาน ซู จี และนักโทษการเมืองอีกมากกว่า 1,100 คน ยังดำเนินต่อไป สมาชิกของ PRAD ได้เสนอข้อเสนอแนะด้านล่างนี้แก่นานาชาติ

สำหรับประเทศสหรัฐอเมริกา ที่จะสร้างจุดยืนที่มั่นคงในพม่า ที่จะเรียกร้องขอความช่วยเหลือทางด้านมนุษยชนให้กับผู้พลัดถิ่น

สำหรับสหประชาชาติ ที่สภาความมั่นคงแห่งสหประชาติจะยังคงตรวจสอบสถานการณ์ และทำงานเพื่อที่จะทำให้การละเมิดสิทธิมนุษยชนนี้จบสิ้นไป และที่เลขานุการสหประชาชาติจะเพิ่มการทำงานของสมาชิกที่จะกดดัน SPDC ที่จะมีการพูดคุยสามฝ่ายกับ National League for Democracy และชนเผ่ากลุ่มต่างๆ

สำหรับประชาคมชาวโลกทุกหนทุกแห่ง ที่จะกระทำการแทนประชาชนที่อยู่ในประเทศพม่า และให้ด้วยใจที่กว้างขวางกับประชาชนผู้พลัดถิ่นและผู้ที่ถูกบังคับให้ย้ายถิ่นฐานซึ่งพวกเขากำลังต้องการความช่วยเหลืออย่างยิ่ง

สำหรับโบสถ์ต่างๆ ทั่วโลก ที่จะอธิษฐานเผื่อ และที่จะลงมือช่วยเหลืออย่างจริงจัง และที่จะทำพันธกิจกับประชนชนที่อ่อนแอ และเป็นเหยื่อในประเทศพม่า

จบการรายงาน